หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อธุรกิจ หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2568 เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นให้มีคุณภาพ และทันสมัยตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) โดยใช้กระบวนการพัฒนาหลักสูตรแบบการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome Based Education: OBE) กระบวนการพัฒนาหลักสูตรได้สำรวจความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและตลาดแรงงาน มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในการนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน หลักสูตรฯ ยังได้พัฒนาตามทิศทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต: จิ๋วแต่แจ๋ว พ.ศ. 2566 – 2567 โดยการพัฒนาหลักสูตรฯ ที่ท้าทายเพื่อความยั่งยืน มุ่งเน้นการผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน การจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรฯ จะเน้นให้ผู้เรียนนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรชีวภาพผสานกับความรู้ทางด้านธุรกิจ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต ส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน สารสกัดมูลค่าสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยมีการประยุกต์ใช้สารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบและพัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้ เพื่อผลิตบัณฑิตให้ก้าวสู่ตลาดแรงงานในยุคเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model” สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดเป็นผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ ที่ยึดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ESG (Environment, Social and Governance) ลดการสร้างผลกระทบทางลบ และสร้างผลกระทบทางบวกต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability Development Goals, SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของสหประชาชาติ การจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรฯ ยังเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะด้านปฏิบัติการควบคู่กับความรู้ทางทฤษฎี ผู้เรียนจะมีโอกาสได้ปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ และมีการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และระดับอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้มีการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการโดยตรง บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรฯ จึงมีองค์ความรู้และทักษะทางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพและการดำเนินธุรกิจสามารถประสานงานด้านอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อธุรกิจในองค์กรที่ปฏิบัติงานได้ และมีคุณลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างจากบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพของมหาวิทยาลัยอื่น อีกทั้งยังมีสมรรถนะและทักษะที่เหมาะสมของพลเมืองในศตวรรษที่ 21 และมีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

การพัฒนาหลักสูตร

                               ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งมีฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพภายในประเทศมากมาย ทั้งชนิดที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร อีกทั้งยังเป็นผู้นำการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอาเซียนจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ของประเทศไทย และโลก ณ ปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นประชากร และปัญหาสิ่งแวดล้อม การปรับตัวตามกติกาสากล และแนวนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ จึงเป็นทิศทางที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนากำลังคนทางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

                           จากสถานการณ์และแนวโน้มข้างต้น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อธุรกิจ หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นตามสถานการณ์ของประเทศไทยที่ต้องการกำลังคนทางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อรับมือกับวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถด้านปฏิบัติการ วิเคราะห์ วิจัย และบูรณาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ และศาสตร์ต่าง ๆ ที่เข้ากันได้กับยุคสมัยปัจจุบัน และอนาคต เพื่อปฏิบัติงานทางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพระดับสังคม และประเทศได้อย่างมีจริยธรรม โดยอาศัยโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ  (BCG Model) เป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจ  สีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาหลักสูตรฯ เพื่อปลูกฝังให้บัณฑิตรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบ สมดุลของสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานวิชาชีพ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลโดยบัณฑิตที่ผลิตขึ้นสามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและเคมีชีวภาพ การแพทย์และสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเน้นด้านอาหาร สุขภาพ และความงาม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยลัยสวนดุสิต พร้อมทั้งส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตนเอง ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ และการตลาดดิจิทัล เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของบัณฑิต ให้สามารถปฏิบัติงานได้ในหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งนอกจากจะมุ่งพัฒนาความรู้ความสามารถด้านวิชาการให้กับนักศึกษาแล้ว หลักสูตรฯ ยังมุ่งเน้นให้นักศึกษา มีคุณธรรม จริยธรรม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ